วันจันทร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2555

การสาธิต (Demonstration)
           การสาธิต หมายถึง การสอนโดยวิธีอธิบายข้อเท็จจริง ความคิด และขบวนการต่าง ๆ พร้อมกับการใช้วัสดุหรือเครื่องมือแสดงให้ผู้เรียนได้สังเกตไปด้วย การสาธิตใช้ได้ดีกับเนื้อหาวิชาที่มีลักษณะเป็นลำดับขั้นตอนและกระบวนการ
    ลักษณะสำคัญ
       วิธีสอนแบบสาธิตเป็นกิจกรรมที่ให้ผู้เรียนรู้ประสบการณ์ แนวทาง เช่น การฟัง การดู การสัมผัสแตะต้อง ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ให้การเรียนรู้ค่อนข้างสมบูรณ์
1.คุณค่าของการสาธิต
1.1 เป็นจุดรวมความสนใจของนักเรียน
1.2 แสดงขั้นตอนหรือเรื่องราวที่เป็นขบวนการได้ดี โดยเฉพาะในการสอนวิชาทักษะ เช่น ดนตรี การใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์ฯลฯ
1.3 เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง เช่น การสังเกต วิจารณ์และปฏิบัติด้วยตนเอง
1.4 ช่วยให้ผู้เรียน เรียนด้วยความสนุกสนานและเข้าใจเนื้อหาที่เรียนดีขึ้น
1.5 ฝึกให้ผู้เรียนมีวิจารณญาณและเสริมสร้างทัศนคติที่ถูกต้องให้กับผู้เรียน
1.6 ลดเวลาในการลองผิดลองถูกของผู้เรียนให้น้อยลง
1.7 สามารถใช้สอนได้ทั้งวิชาที่ต้องใช้วัสดุอุปกรณ์ประกอบและวิชาที่มีลักษณะเป็นนามธรรม
1.8 ประหยัดค่าใช้จ่ายทุ่นเวลาและป้องกันอันตราที่เกิดขึ้นกับนักเรียนได้ดี

2. วัตถุประสงค์ในการสาธิต
2.1 ให้ผู้เรียนได้รับรู้หลาย ๆ ด้าน เช่น ทางตา หู จมูก ลิ้น และการสัมผัส
2.2 มุ่งให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์กว้างขึ้น
2.3 ให้ผู้เรียนได้เข้าใจลำดับขั้นต่าง ๆ และสามารถสรุปผลได้
2.4 เป็นกิจกรรมที่สามารถปฏิบัติไปพร้อมกับวิธีการสอนวิธีอื่น ๆ ด้วยได้
 3.โอกาสในการสาธิต
 การใช้วิธีการสาธิต เพื่อการเรียนการสอนอาจทำได้หลายโอกาส คือ
1. ใช้วิธีสาธิตเพื่อนำเข้าสู่บทเรียนเรื่องใหม่ เพื่อเป็นการเร้าความสนใจให้กับผู้เรียน
2. ใช้เพื่อสร้างปัญหาให้ผู้เรียนคิดและหาทางแก้ไขปัญหา
3. เพื่อการสร้างความเข้าใจในเนื้อหา หลักการ และความคิดรวบยอดของบทเรียน
4. ช่วยแก้ปัญหาการสอนในกรณีที่มีเครื่องมือจำกัด ราคาแพง และอาจเป็นอันตรายต่อผู้เรียน
4.ขั้นตอนในการสาธิต
การปรับใช้การสอนสาธิตโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
4.1 ขั้นเตรียมการสาธิต
                ผู้สอนต้องเตรียมการให้ดี ไม่ว่าการเตรียมเนื้อหา บทบาทการสาธิตส่วนใหญ่จะเป็นของผู้สอนแต่เนื้อหาหรือจุดมุ่งหมายในส่วนใดที่ต้องการให้ผู้เรียนเกิดทักษะ ทัศนคติ บทบาทในส่วนนั้นจะเน้นที่ผู้เรียนมากกว่าผู้สอน การเตรียมกระบวนการ เตรียมสื่อที่จะสาธิต และเตรียมกิจกรรมที่จะสาธิตต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ เมื่อสาธิตจบแล้วควรมีการวางแผนว่าจะทำกิจกรรมอะไรต่อไปโดยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมมากที่สุด
 4.2  ขั้นการสาธิต
           ผู้สอนควรใช้วิธีการสื่อสารสองทาง คือ มีทั้งผู้สาธิตเป็นคนทำ แต่ในบางครั้งก็ให้ผู้เรียนมีส่วนช่วยสาธิต อธิบายหรือตอบคำถาม ผู้สาธิตควรใช้สื่ออื่น ๆ ที่เร้าความสนใจได้มากกว่าคำพูดประกอบ เช่น ของจริง ของตัวอย่าง แผ่นโปร่งใส สไลด์ หรือภาพฉาย ภาพนิ่ง หรือภาพเคลื่อนไหวบนจอ ในขณะสาธิตจะต้องเน้น ต้องย้ำ การที่ให้ผู้เรียนได้มีโอกาสตอบสนอง (Feedback) ตลอดเวลา เช่น การซักถาม การอธิบายเสริม การได้มีกิจกรรมเสริมอื่น ๆ เช่น การแสดงบทบาทสมมุติ สถานการณ์จำลอง การเล่นเกม ผู้สาธิตพยายามให้ผู้ดูมีส่วนร่วมมากที่สุด ที่สำคัญผู้สาธิตต้องมีความสามารถที่จะต้องจูงใจให้ผู้เรียนติดตามตลอดเวลา การจูงใจทำได้หลายวิธี เช่น การถามตอบ การให้เพื่อนช่วยเพื่อน ช่วยเสริมซึ่งกันและกัน เป็นต้น
- จำนวนผู้เรียน
          การสาธิตเป็นการแสดงให้ดูการลองทำหรือผู้เรียนได้มีโอกาสปฏิบัติดังนั้นการจัดกลุ่มผู้เรียนต้องไม่มากเกินไป เช่น 5-7 คน หรือน้อยกว่าอย่างไรก็ตามการจัดกลุ่มผู้เรียนจำนวนเท่าใดขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายวิธีการสาธิตสถานที่หรืออุปกรณ์ที่ใช้ประกอบการสาธิต
- ระยะเวลา
           ระยะเวลาของการสาธิตขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายของการจัดเนื้อหาเรื่องราวที่จะสาธิตเป็นสำคัญหากมีขั้นตอนและเนื้อหามากการสาธิตก็ต้องใช้เวลานานหรืออยู่ที่วิธีการสาธิตบางอย่างผลของการสาธิตต้องอาศัยเวลานานจึงจะเห็นผลที่เกิดขึ้น แต่กิจกรรมสาธิตบางเรื่องสามารถเน้นผลได้ในทันที
      - ลักษณะห้องเรียน
 การสอนแบบสาธิต อาจจะแบ่งลักษณะของห้องเรียนหรือสถานที่ได้ 3 รูปแบบ คือ
        1. การสาธิตในห้องทดลอง กระบวนการสาธิตในลักษณะนี้จะต้องอาศัยอุปกรณ์ต่างๆในห้องทดลอง เช่น การสาธิตเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์ การผสมสารเคมี ซึ่งต้องใช้ความละเอียดอ่อนและขั้นตอนผู้สาธิตต้องรู้และเข้าใจกระบวนการสาธิตเป็นอย่างดี เพราะรูปแบบการสาธิตวิธีนี้บางครั้งหากทำผิดพลาดอาจจะเกิดเรื่องเสียหายได้
      2. การสาธิตในห้องเรียน รูปแบบการสาธิตวิธีนี้อาจจะเป็นการสาธิตเรื่องราวต่าง ๆ ของบทเรียนที่มี ไม่จำเป็นต้องทำในห้องทดลอง และบางครั้งก็ไม่ต้องใช้อุปกรณ์มากมาย เช่น การสาธิต วิธีการ การสาธิตท่ายืน เดิน นั่ง การสาธิตท่ากราบไหว้ที่ถูกต้อง เป็นต้น
      3. การสาธิตนอกห้องเรียน การสาธิตรูปแบบนี้อาจจะต้องใช้สถานที่นอกห้องเรียน เช่น สนามกีฬา หรือในแปลงสาธิตทางการเกษตร เป็นกิจกรรมที่ต้องอาศัยสถานที่ หรือบริเวณกว้างขวางกว่าห้องเรียน
-ลักษณะเนื้อหา                                                                                                                          
           รูปแบบการสอนแบบสาธิตสามารถใช้ได้กับเนื้อหาในทุกวิชาทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการสอนและผู้สอนวิเคราะห์แล้วการใช้กิจกรรมการสาธิตจะช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจได้ดีที่สุดเช่น การทดลองวิทยาศาสตร์ การสาธิตวิธีการประกอบอาหารหรือการสาธิตการเล่นกีฬาหรือการออกกำลังกายในท่าที่ถูกต้องฯลฯจะสังเกตได้ว่าเป้าหมายของการสอนแบบสาธิตคือต้องการให้ผู้เรียนได้เน้นกระบวนการของเรื่องหนึ่งเรื่องใดเพื่อที่ผู้เรียนจะได้นำไปปฏิบัติได้


 - บทบาทผู้สอน                                                                                                                                       
           วิธีสอนแบบสาธิตส่วนใหญ่จะเป็นบทบาทของผู้สอนมากกว่าผู้เรียนทั้งนี้การสอนแบบสาธิตจะมีลักษณะใกล้เคียงกับการแสดงโดยต้องการทำให้ดูและการบอกให้เข้าใจบางครั้งเรื่องที่สาธิตนั้นอาจจะมีขั้นตอนหรือต้องอาศัยความชำนาญการในการทำหรือบางครั้งเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการสาธิตนั้นมีราคาแพง หรือแตกหักชำรุดง่ายผู้สอนจึงต้องเป็นผู้ทำเสียเองอย่างไรก็ตามการสาธิตที่ดีนั้นผู้เรียนต้องมีส่วนร่วมด้วย โดยเฉพาะหากการเรียนการสอนเน้นอยู่ที่ตัวผู้เรียน ผู้เรียนต้องมีโอกาสได้สาธิตด้วยตนเองให้มากที่สุดเพื่อให้ได้ประสบการณ์ตรง
-บทบาทผู้เรียน
         วิธีสอนแบบสาธิตโดยทั่วๆไป ผู้เรียนจะมีบทบาทน้อยเป็นเพียงผู้ดูและผู้ฟังอาจจะมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือเล็กๆน้อยเท่านั้นแต่การสาธิตที่ดีต้องเปิดโอกาสให้ผู้เรียนเข้ามามีส่วนร่วมมากที่สุดยิ่งถ้ามีโอกาสได้รับประสบการณ์ตรงด้วยคือมีโอกาสได้ปฏิบัติภายหลังการสาธิตด้วยแล้วก็ยิ่งทำให้เกิดการเรียนรู้มากขึ้น
- ขั้นตอนการสอน
           ก่อนการสาธิต มีขั้นตอนปฏิบัติดังนี้
           1. การกำหนดวัตถุประสงค์ ของการสาธิตให้ชัดเจนว่าการสาธิตนั้นมีวัตถุประสงค์อย่างไรการสาธิตบางอย่างเป็นการสาธิตกระบวนการเพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจกระบวนการ ขั้นตอน เช่น การสาธิต ขั้นตอนการยิงลูกโทษ การสาธิตการเตะตะกร้อ และการสาธิตบางเรื่องต้องการสาธิตให้เกิดผลตามที่ต้องการ เช่น การสาธิตในห้องทดลอง
          2. การเตรียมการ ผู้สอนต้องเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ในการสาธิต เตรียมขั้นตอนการสาธิตซึ่งวิธีการเตรียมที่ถูกต้องคือ ต้องลองสาธิตดูก่อน เป็นการตรวจสอบว่าขั้นตอนเหล่านั้นถูกต้องหรือไม่ หากเกิดปัญหาใด ๆ ขึ้นก็มีโอกาสแก้ไขได้ก่อน ขณะทำการสาธิตผู้สอนควรอธิบายหรือบรรยายให้ผู้เรียนเข้าใจเสียก่อน โดยเฉพาะควรจะบอกวัตถุประสงค์ของการสาธิตให้ผู้เรียนได้ทราบ หลังจากนั้นจึงนำเข้าสู่การสาธิต โดยการอธิบายให้ฟังหรือใช้สื่อต่าง ๆ อาจจะเป็นสไลด์ประกอบคำบรรยายหรือวีดิทัศน์ หรือวิธีการที่ผู้สอนทั่วไปใช้คือ การให้ผู้เรียนได้ศึกษามาก่อน โดยให้ไปอ่านเอกสาร หนังสือ หรือค้นคว้าเรื่องราวที่สาธิตนั้นก่อน ก็จะทำให้การสาธิตดำเนินไปได้อย่างรวดเร็วและผู้เรียนเข้าใจได้ชัดเจนในขณะสาธิตผู้เรียนสาธิตต้องดำเนินการสาธิตไปตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ อาจจะสลับด้วยการบรรยายแล้วสาธิต วิธีที่จะทำให้บรรยากาศการสาธิตเป็นไปด้วยความตื่นเต้น ควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการสาธิตตลอดเวลา อาจจะเป็นการถามนำ กระตุ้น หรือให้ผู้เรียนช่วยสาธิตเรื่องราวบางเรื่องที่มีความสลับซับซ้อนหรือมีขั้นตอนยุ่งยาก ผู้สาธิตก็ต้องสาธิตหลาย ๆ ครั้ง หรือให้ผู้เรียนทำตามไปด้วยเป็นขั้น ๆ ผู้สอนจะต้องชี้แนะหรือเน้นย้ำในส่วนที่สำคัญตลอดเวลา ดังนั้นการวางแผนสาธิตจำเป็นต้องเตรียมตัวมาเป็นอย่างดี
ภายหลังการสาธิต
            เมื่อการสาธิตจบลงแล้ว การย้ำเน้นเรื่องราวที่สาธิตไม่ว่าจะเป็นการสาธิตกระบวนการหรือสาธิตผู้สอนก็ต้องให้มีการสรุป ทั้งนี้ผู้ดูหรือผู้เรียนเป็นผู้สรุปเอง โดยมีการอภิปรายแลกเปลี่ยนกัน หรือบางครั้งการจัดอาจจะจบลงด้วยการสรุปโดยวีดิทัศน์ หรือสไลด์ประกอบเสียง โดยการสอบถาม แจกแบบสอบถาม แบบทดสอบ ทั้งนี้อยู่ที่ระยะเวลาที่เหลือ
สื่อการสอนแบบสาธิต
           การสอนแบบสาธิตก็เช่นเดียวกับวิธีการสอนแบบอื่น ๆ ที่สามารถนำสื่อในรูปแบบต่าง ๆ มาใช้ได้ แต่ส่วนใหญ่การสาธิตนั้นหากเป็นการสาธิตที่ไม่ใช้วัสดุ อุปกรณ์ใด ๆ ตัวผู้สอนจะเป็นสื่อที่สำคัญ ดังนั้นผลของการสาธิตจะบรรลุตามวัตถุประสงค์หรือไม่จึงขึ้นอยู่กับผู้สอน แต่แนวทางที่จะให้การสอนแบบสาธิตเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ การออกแบบการสอนแบบสาธิตซึ่งต้องให้ผู้เรียนมีบทบาทมากขึ้น จึงต้องให้ผู้เรียนมีบทบาทตั้งแต่ก่อนการสาธิตจนกระทั่งหลังการสาธิต
4.3 การวัดและประเมินผล
          การสอนแบบสาธิตส่วนใหญ่ผู้สอนหรือผู้สาธิตจะมีบทบาทในการประเมิน อาจจะโดยการสังเกต วิเคราะห์คำตอบว่าผู้เรียนเข้าใจหรือไม่เพียงใด แต่การประเมินที่ดีคือการให้ผู้เรียนได้ทำแบบทดสอบหรือแบบสอบถาม
5. ข้อดีและข้อจำกัดของการสาธิต
สื่อกิจกรรมประเภทการสาธิตมีข้อดีและข้อจำกัดดังนี้
ข้อดี
1) ทำให้ผู้เรียนได้ประสบการณ์ตรง
2) ทำให้ผู้เรียนเข้าใจง่ายและจดจำเรื่องที่สาธิตได้นาน
3) ทำให้ผู้เรียนรู้วิธีการแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง
4) ทำให้ประหยัดเงินและประหยัดเวลา
5) ทำให้ผู้เรียนเกิดความคิดสร้างสรรค์
ข้อจำกัด
1) หากผู้เรียนมีจำนวนมากเกินไปก็อาจทำให้การสังเกตไม่ทั่วถึง
2) ถ้าผู้เรียนเตรียมการมาไม่ดีเมื่อเวลาสาธิตวนไปวนมาหรือสาธิตไม่ชัดเจนก็ทำให้ได้ผลไม่ดี
3) ถ้าการสาธิตนั้นเน้นที่ผู้สอนโดยผู้เรียนไม่มีโอกาสได้ปฏิบัติเลย ผู้เรียนก็อาจจะได้ประสบการณ์น้อย
4) ต้องมีการเตรียมตัวและฝึกฝนอย่างแม่นยำ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น